เลือกใช้ท่อเหล็กประปา เพื่อการอุปโภค บริโภคได้อย่างไร?

เลือกใช้ท่อเหล็กประปา เพื่อการอุปโภค บริโภคได้อย่างไร?

11 พฤษภาคม 2566

บทความ

ท่อเหล็กประปามักจะเป็นท่อที่มีปัญหามากในการเลือกนำมาใช้งาน เนื่องจากมีลักษณะภายนอกที่คล้ายกันมาก หากเลือกใช้ผิดจะก่อให้เกิดอันตราย และความเสียหายได้ โดยเฉพาะการใช้งานในระบบท่อประปาเพื่อการบริโภค ยิ่งจำเป็นต้องเลือกใช้งานอย่างถูกต้อง ท่อที่ถูกใช้ในงานประปานั้นมีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะท่อเหล็กชุบ หรือ ท่อพีวีซีต่างๆ แต่ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องท่อเหล็กที่ใช้ในงานประปากัน


ในงานประปานั้น ท่อเหล็กที่ควรใช้ต้องเป็นท่อประปากัลวาไนซ์เท่านั้น (Galvanized Pipe) ท่อประปา มีชื่อเรียกมากมายหลายชื่อไม่ว่าจะเป็น ท่อประปา, ท่อประปาแท้, ท่อชุบสังกะสี, ท่อชุบกัลวาไนซ์, ท่อชุบซิงค์ ทุกท่อล้วนแต่เป็นท่อที่มีลักษณะเดียวกันแต่แตกต่างกันในด้านของชื่อเรียก แต่จะมีท่ออีกชนิดที่มีลักษณะคล้ายกัน คือ ท่อเหล็ก GI หรืออีกชื่อ คือ ท่อพรีซิงค์ (Pre – Galvanized Pipe) ซึ่งท่อชนิดนี้จะไม่เหมาะกับงานประปาเพื่อการอุปโภค บริโภค วันนี้เราจะมาดูถึงความแตกต่างของท่อ 2 ชนิดกัน 


ท่อประปากัลวาไนซ์ (Hot-Dip Galvanized Pipe)

คือเหล็กที่ผลิตโดยการนำ เหล็กรีดร้อนม้วน SS400 (หรือเรียกว่า เหล็กดำม้วน) นำมาขึ้นรูปเป็นท่อเหล็กและนำไปลงบ่อชุบสังกะสี  โดยมีชั้นเคลือบสังกะสีเฉลี่ยทั้งเส้น ไม่น้อยกว่า 450 g/m ขั้นความหนาของสังกะสีเคลือบจะเพิ่มขึ้นตามหนาของเหล็ก (Based Metal) ท่อเหล็กชุบสังกะสี มีทั้งแบบปลายเรียบและปลายเกลียว ประเภทที่นิยมใช้ในตลาด ได้แก่ คาดเหลือง คาดน้ำเงิน และคาดแดง


คุณสมบัติ

เพื่อเป็นเกราะป้องกันการเกิดสนิม และการกัดกร่อน จากสภาพแวดล้อมต่างๆ ทำให้ท่อเหล็กแข็งแรงทนทาน มีความสามารถในการรับแรงดันได้ดี เชื่อมต่อสะดวก มีคุณสมบัติในการป้องกันการเกิดสนิม มีอายุการใช้งานยาวนานกว่ากว่าท่อเหล็กธรรมดา


การนำไปใช้งาน

ท่อเหล็กชุบสังกะสีนิยมนำไปใช้ในงานระบบอาคารเป็นส่วน ใหญ่ เช่น งานท่อระบบส่งน้ำประปา ,งานท่อดับเพลิง ,งานท่อสุขาภิบาล และงานท่อสาธารณูปโภคต่างๆ เป็นต้น


ขนาดที่นิยมนำไปใช้งาน

จะมีขนาดตั้งแต่ 15 mm. (1/2”) ,20 mm. (3/4”),25 mm. (1”),32 mm. (1-1/4) ,40 mm. (1-1/2”), 50 mm. (2”), 65 mm. (2-1/2”), 80 mm. (3”), 100 mm. (4”), 125 mm. (5”) และ 150 mm. (6”)


มาตรฐานการผลิตท่อเหล็กชุบสังกะสี

ท่อเหล็กชุบสังกะสีที่นำไปใช้ในการก่อสร้างจะต้องได้รับมาตรฐานการผลิตระดับสากล ได้แก่ 

• BS 1139

• มอก. 276-2562

• ASTM A53 Type E Grade A and Grade B

• UL 852 Standard for Safety for Metallic Sprinkler Pipe for Fire Protection Service

• DIN 2440

• JIS G3452

• JIS G3444 

• BS 1387:1985 (Withdrawn)

• BS EN 10255


ท่อพรีซิงค์ GI (Pre – Galvanized)

คือลักษณะของการเคลือบสังกะสีเข้าสู่แผ่นซิงค์ก่อน แล้วค่อยถูกนำมาม้วนให้กลายเป็นท่อ ทำให้มีจุดสังเกตตรงที่ จะมองเห็นรอยต่อของท่อที่ถูกม้วนนั่นเอง โดยเราสามารถสังเกตเห็นตะเข็บสีดำได้หากเป็นท่อประปา GI 


คุณสมบัติ

ท่อ GI จะต้องใช้ในงานโครงสร้างทั่วไป ไม่เหมาะกับการใช้งานในระบบท่อประปา เพราะชั้นเคลือบจะหนาไม่เท่ากับท่อประปาแท้ และตะเข็บที่เชื่อมท่อนั้น จะเก็บตะเข็บเฉพาะด้านนอกเท่านั้น ตะเข็บในจะมีปัญหาถ้าต้องโดนน้ำและอากาศบ่อยๆ ท่อ GI จะระบุมาตรฐาน มอก.107-2561 ชั้นคุณภาพ STK290 หรือ STK400 และจะมีระบุชั้นเคลือบสังกะสีให้เห็นชัดเจน เช่น Z08 หมายถึง มีการเคลือบสังกะสีอยู่ที่ 80 กรัม/ตารางเมตร 


การนำไปใช้งาน

การนำมาใช้งานในงานทั่วไปนั้นสามารถนำไปตัดและเชื่อมได้เลย ไม่ต้องทาสีรองพื้นกันสนิม ประหยัดเวลา ใช้ในงานโครงสร้างหลังคา งานระเบียงเล็กๆ น้อยๆ น้ำหนักเบา คงทน แข็งแรงทนทาน ทนต่อ การกัดกร่อน ไม่เป็นสนิม เป็นเหล็กทางเลือก ซึ่งเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน


ข้อควรระวังของท่อพรีซิงค์ GI 

- จะไม่มีการคาดสีใดๆ หากพบเจอให้เดาได้เลยว่า จงใจทาสีเพื่อเลียนแบบท่อประปา


ทำไมงานประปาต้อง Hot-Dip เท่านั้น

เหตุที่งานประปาต้องใช้ Hot Dip เพราะท่อประปาที่ได้มาตรฐาน มอก. ทุกเส้นจะมีชั้นเคลือบสังกะสีตาม มาตรฐาน มอก.276-2562 อีกทั้งท่อประปาที่ได้ มอก. ทุกเส้นจะมีพ่นระบุ ชื่อโรงงานหรือผู้ผลิต, ชั้นคุณภาพ, ขนาดและความหนา และ มาตรฐาน มอก. ที่ตัวท่อประปาอย่างชัดเจน


หากใช้ท่อพรีซิงค์ GI มาใช้ในงานประปาจะเกิดอะไรขึ้น?

- การเคลือบสังกะสีที่ไม่มากพอ กล่าวคือ หากใช้ท่อGI วัตถุดิบ Z08 หรือมีการเคลือบสังกะสีอยู่ที่ 80 กรัม/ตารางเมตร การเคลือบตัวของสังกะสีจะน้อยกว่าท่อประปาแท้ถึง 5 เท่า ส่งผลให้เกิดสนิมง่ายกว่านั่นเอง

- ตะเข็บส่วนใหญ่ จะเก็บด้วยสี หรือกัลวาไนส์ ขณะเชื่อม ทำให้เป็นจุดอ่อนที่จะเกิดสนิมง่าย

- เนื้อเหล็กบางโรงงานจะบางกว่าปกติไม่รู้ว่าหนากี่มิลลิเมตร ไม่มีระบุ

- ค่ารื้อซ่อมแพงกว่าค่าติดตั้ง เป็นความจริงที่ต้องคำนึงก่อนเลือกใช้งาน


หากต้องการเลือกใช้ท่อเหล็กที่ใช้ในงานประปาสามารถสอบถามกับเจ้าหน้าที่ได้ก่อน

หรือสามารถตรวจสอบราคาเหล็กที่ต้องการชนิดอื่นๆ ได้ที่นี่ สามารถทราบราคาเหล็กเบื้องต้นได้ทันที จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ของเราติดต่อกลับโดยเร็วที่สุด



ขอบคุณข้อมูลจาก 

https://www.ruengrawin.com/

https://www.wazzadu.com/