รวมเหล็กที่ใช้ก่อสร้าง เรียกว่าอะไร คุณสมบัติเป็นอย่างไร

รวมเหล็กที่ใช้ก่อสร้าง เรียกว่าอะไร คุณสมบัติเป็นอย่างไร

09 มีนาคม 2566

บทความ

โดยทั่วไปแล้วเหล็กที่ใช้ในงานก่อสร้างคือ เหล็กกล้า(Steel) เหล็กที่มีความเหนียวและมีความยืดหยุ่นตัวที่สูง สามารถนำมาแปรรูปร่างได้ตามต้องการ โดยในงานอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง เหล็กกล้าที่นิยมมาแปรรูปเพื่อใช้ในวงการอุตสาหกรรมมีด้วยกัน 3 ประเภทหลักๆ คือ เหล็กเส้นคอนกรีต, เหล็กรูปพรรณ และ ลวดเหล็ก โดยในบทความนี้จะกล่าวเพียง 2 ประเภทคือ เหล็กเส้น และ เหล็กรูปพรรณ 


1. เหล็กเส้นคอนกรีต (Reinforced concrete หรือ Ferro concrete)

คือเหล็กที่มีลักษณะเป็นเส้นยาว ใช้เป็นส่วนประกอบของโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก มีทั้งเหล็กเส้นกลม และเหล็กข้ออ้อย (เหล็กปล้องอ้อย) มีความสำคัญต่องานก่อสร้างเป็นอย่างมาก หรือที่นิยมเรียกกันโดยทั่วไปคือ เหล็กเส้นก่อสร้าง บางท่านอาจเรียกเหล็กเสริม ใช้สำหรับรับแรงงานคอนกรีตเสริมเหล็ก และงานก่ออิฐทั่วไป


1.1 เหล็กเส้นกลม (Round Bar) 

เหล็กเส้นกลม หรือเรียกกันอีกอย่างว่าเหล็ก RB ซึ่งเหล็กเส้นเป็นเหล็กที่มีพื้นที่ภาคตัดขวางเป็นรูปกลม มีผิวเรียบเกลี้ยงทำให้แรงยึดเหนี่ยวระหว่างเหล็กกับคอนกรีตไม่ดี ชั้นคุณภาพ SR24 ตามมาตรฐานมอก.24-2548 ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 6 มม.- 28 มม. (RB6 – RB28) ความยาว 10 – 12 เมตรต่อเส้น นิยมใช้กับงานโครงสร้างขนาดเล็ก งานส่วนที่ไม่รับแรงมากนัก หรือใช้ในการกลึงต่างๆ 


1.2 เหล็กข้ออ้อย (Deformed Bar)

เหล็กเส้นกลมที่มีผิวบั้งเป็นปล้องตลอดความยาวเหล็ก (Deformed Bar) ชั้นคุณภาพตั้งแต่ SD30, SD40 และ SD50 ตามลักษณะโครงสร้างที่ออกแบบมา สามารถรับแรงได้มากกว่าเหล็กเส้นกลม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 10 – 32 มม. (DB10 – DB32) ความยาว 10 – 12 เมตรต่อเส้น นิยมใช้กับงานโครงสร้าง ที่มีขนาดใหญ่แข็งแรง


2. เหล็กรูปพรรณ (Structural Steel) 

คือเหล็กที่ผ่านกระบวนการผลิตและแปรรูป เป็นรูปทรงต่างๆ ให้เหมาะสมกับการทำงานแต่ละประเภท ได้แก่ H-Beam,I-Beam สำหรับทำโครงสร้างหลักพวกคานหรือเสา และหน้าตัดอื่นๆ เช่น เหล็กฉาก เหล็กล่อง เหล็กตัวซี และท่อเหล็กกลม ซึ่งใช้สำหรับโครงสร้างอื่นๆ เช่น โครงหลังคา เป็นต้น ถูกนำมาใช้ทดแทนไม้เนื้อแข็งเนื่องจากราคาไม่สูง หาซื้อได้ง่าย และใช้เวลาในการก่อสร้างน้อย สำหรับเหล็กรูปพรรณนั้นมีหลากหลายประเภท ดังต่อไปนี้


2.1 เหล็กเอชบีม (H-Beam)

เหล็กเอชบีม (H-Beam) เป็นเหล็กรูปพรรณเหล็กยาว เส้นตรง ลักษณะหน้าตัดรูปตัว เอช (H)ทั้งปีกบนและล่าง จะเป็นแผ่นเรียบหนา ทำมุมฉากเท่ากันตลอด สามารถที่จะรองรับน้ำหนักและโมเมนต์ได้ดี มีความแข็งแรง เป็นเหล็กเหมาะสำหรับการนำไปใช้ในงานก่อสร้างอาคาร ในส่วนของเสา,คาน,โครงหลังคา,งานก่อสร้างขนาดเล็ก


2.2 เหล็กไอบีม (I-Beam)

เหล็กไอบีม (I-Beam) หรือที่นิยมเรียกกันว่า เหล็กตัวไอ, เสาบีม เป็นเหล็กรูปพรรณ เหล็กยาว เส้นตรง ลักษณะหน้าตัดรูปตัวไอ (I) ทั้งปีกบนและปีกล่างจะเป็นแผ่นเอียง โดยเหล็กไอบีมสามารถรับน้ำหนักที่มาก รองรับแรงกระแทกได้ดี เหมาะสำหรับนำไปใช้ในงานรางเลื่อนของเครนในโรงงานอุตสาหกรรม ที่ไว้ใช้ยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก, งานเครื่องจักร, ทำเสา, คาน, งานโครงสร้างต่างๆที่ต้องการความแข็งแรง และรองรับน้ำหนักจำนวนมากๆ


2.3 เหล็กฉาก (Angle Bar)

เหล็กฉาก (Angle Bar) เป็นเหล็กรูปพรรณลักษณะหน้าตัดเป็นตัวแอล (L) เส้นตรงยาว ผิวเรียบ ซึ่งจะมีด้านเท่ากันทั้ง 2 ด้าน ฉากตั้งตรง 90 องศา ตัวเหล็กสามารถเข้ามุมเข้าล็อกได้ง่ายกว่าเหล็กชนิดอื่น มีความคงทนแข็งแรง มีหลายขนาดและรองรับการใช้งานได้หลากหลายเช่น เหล็กฉากขนาดใหญ่จะใช้ทำเสาโครงสร้าง, โครงหลังคา, โครงสร้างโรงงานอุตสาหกรรม,โครงสร้างป้ายขนาดใหญ่, โครงสร้างเสาวิทยุ, โครงสร้างบันได เป็นต้น ส่วนขนาดเล็กนำมาประยุกต์ใช้ได้หลากหลายเช่น เชื่อมชั้นวางของ, ชั้นวางสินค้า, โต๊ะเก้าอี้, งานตกแต่งต่างๆ, งานดัดโค้ง, เจาะรู, งานเชื่อม เป็นต้น


2.4 เหล็กกล่อง (Steel Tube) แบ่งได้เป็น 2 ประเภท 

1) เหล็กกล่องเหลี่ยม (Square Steel Tube) หรือที่นิยมเรียกว่าเหล็กแป๊ปโปร่ง เป็นเหล็กรูปพรรณมีลักษณะสี่เหลี่ยมจัตุรัส กลวง ผิวเรียบ เหมาะกับงานโครงสร้างทั่วไป ใช้แทนไม้หรือคอนกรีตสำหรับโครงสร้างเช่น เสา นั่งร้าน โรงจอดรถ ประตู รั้ว สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย

2) เหล็กกล่องแบน (Rectangular Steel Tube) หรือเหล็กแป๊บแบน, เหล็กกล่องไม้ขีด เป็นเหล็กรูปพรรณทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กลวง ผิวเรียบ คงทนแข็งแรง มีขนาดเหล็กและความหนาของเหล็กหลากหลาย เหมาะในงานโครงสร้างเหล็กหรือโครงสร้างอื่นๆ เช่น โครงหลังคาเหล็กบ้าน คานเหล็ก โครงเหล็กสร้างบ้าน สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย


2.5 เหล็กตัวซี (Light Lip Channel)

เหล็กตัวซี (Light Lip Channel) หรือที่นิยมเรียกกันว่า เหล็กแป, แปซี, แปหลังคา เป็นเหล็กรูปพรรณลักษณะหน้าตัดเป็นตัวซี (C)ผิวเรียบ ยาวตรง แข็งแรงคงทน เชื่อมต่อได้รวดเร็ว มีหลายขนาดให้เลือก นิยมใช้สำหรับงานทำโครงหลังคาเป็นหลัก, โครงสร้างที่อยู่อาศัย, เสาค้ำยัน, แปหลังคา สามารถใช้กับงานโครงสร้างอื่นๆที่ไม่ได้รับน้ำหนักมากนัก และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย 


2.6 เหล็กรางน้ำ (Steel Channel)

เหล็กรางน้ำ (Steel Channel) เป็นเหล็กรูปพรรณลักษณะหน้าตัดเป็นตัวยู (U) เส้นตรงยาว ผิวเรียบ ปีกขาทั้งสองด้านจะมีความหนา และขนาดที่เท่ากันตลอดทั้งเส้น ตัวเหล็กไม่ได้นำมาใช้กับโครงสร้างขนาดใหญ่มากนักเหมือนกับเหล็ก เอชบีม, ไอบีม เนื่องจากมีจุดรับแรงที่ไม่ใช่จุดตรงกลาง นิยมนำมาใช้กับงานเสริมในส่วนโครงสร้างรอง, ทำแปหลังคา, คานบันได, โครงหลังคาโกดัง, โรงงาน, โครงเสริมสะพาน, เสาตอม่อ เป็นต้น


2.7 เหล็กท่อเหล็กดำ (Carbon Steel Tubes)

เหล็กท่อกลมดำ (Carbon Steel Tubes) หรือที่นิยมเรียกกันว่าเหล็กท่อดำ, แป๊บดำ เหล็ก เป็นรูปพรรณลักษณะทรงกลม แบบกลวง สีดำ น้ำหนักเบา แต่คงความแข็งแรง ทนทาน ตะเข็บเรียบ สามารถรับแรงดันได้ดี ทั้งแรงเสียดทานและแรงลม เป็นเหล็กที่นำไปใช้งานก่อสร้างที่รับน้ำหนักไม่มากนัก เช่น ท่อน้ำสำหรับอาคารสูง,งานขึ้นรูปโครงสร้างต่างๆ,งานเชื่อมต่อ, รวมถึงนำไปประยุกต์ใช้ในงานทั่วไป, ร้อยท่อสายไฟ รั้ว ประตู โครงถักป้ายจราจร, ทำนั่งร้าน, อาคารอเนกประสงค์ และงานต่างๆอีกมากมาย


2.8 ท่อเหล็กอาบสังกะสี (Galvanized Pipe)

ท่อเหล็กอาบสังกะสี (Galvanized Pipe) เป็นเหล็กรูปพรรณมีลักษณะ เป็นท่อทรงกลม แบบกลวง สีเทาผิวเรียบ หรือนิยมเรียกกัน ว่าท่อประปา เกิดจากการนำท่อดำไปชุบสังกะสีเพื่อเป็นการป้องการเกิดสนิม โดยแบ่งความหนาเป็น 3 ประเภท คือ คาดแดง (หนาสุด), คาดน้ำเงิน, คาดเหลือง (บางสุด) โดยท่อสังกะสี เหมาะกับการใช้ในงานที่ต้องการความแข็งแรง นิยมใช้ในงาน ท่อระบายน้ำ ท่อน้ำทิ้ง ท่อลำเลียงสายไฟ ลำเลียงน้ำ นอกจากนั้นยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานหลากหลาย เช่น ทำป้าย ทำรั้ว ประตู เสาโทรทัศน์ ราวตากผ้า เสาอากาศ


2.9 เหล็กแผ่นดำ (Steel Plate) แบ่งเป็น 2 ประเภท

1) เหล็กแผ่นชีท (Steel Plate) เป็นเหล็กแผ่นรูปพรรณทรงแบน เหล็กมีผิวเรียบ มีขนาดมาตรฐานตั้งแต่ 4’*8’ /4’*10’ /5’*10’ / 5’*20’ และตัดขนาดตามต้องการ โดยมีความหนาตั้งแต่ 8 มม. – 100 มม. ใช้ประกอบเป็นแบบเหล็กสำหรับงานเทคอนกรีต ฐานรากหรือพื้นหรืองานโครงสร้างทั่วไป ใช้ต่ออาคารเหล็ก, สะพานเหล็ก, ม้วนทำท่อขนาดใหญ่ (Spiral pipe) , ทำตู้คอนเทนเนอร์ ใช้ขึ้นรูปชิ้นส่วนช่วงล่างของรถยนต์ที่ต้องการความแข็งแรง, ใช้ในงานอุตสาหกรรมต่อเรือ และงานขึ้นรูปต่างๆ

2) เหล็กแผ่นดำตัดจากม้วนคอยล์ เป็นเหล็กแผ่นรูปพรรณทรงแบน เหล็กมีผิวเรียบ มีขนาดมาตรฐานตั้งแต่ 4’*8’ /4’*10’ /5’*10’ / 5’*20’ และตัดขนาดตามต้องการ โดยมีความหนาตั้งแต่ 1 มม. – 12 มม. ใช้ประกอบเป็นแบบเหล็กสำหรับงานเทคอนกรีต ฐานรากหรือพื้นหรืองานโครงสร้างทั่วไป ใช้ต่ออาคารเหล็ก, สะพานเหล็ก, ม้วนทำท่อขนาดใหญ่ (Spiral pipe) , ทำตู้คอนเทนเนอร์ ใช้ขึ้นรูปชิ้นส่วนช่วงล่างของรถยนต์ที่ต้องการความแข็งแรง, ใช้ในงานอุตสาหกรรมต่อเรือ และงานขึ้นรูปต่างๆ


2.10 เหล็กแผ่นแบน (Steel Flat Bar) แบ่งเป็น 2 ประเภท

1) เหล็กแบนรีด เป็นเหล็กแบนที่ผ่านกระบวนการรีดร้อน หรือเย็น มีความหนาเท่ากันตลอดทั้งเส้น มีหน้าตัดด้านข้างที่มนกว่า มักจะถูกนำไปใช้งานในงานก่อสร้าง มีราคาที่ถูกกว่า แต่ยังไม่มีมาตรฐาน มอก. (TIS) รองรับ

2) เหล็กแบนตัด เป็นเหล็กแบนที่ผ่านกระบวนการรีดร้อน หรือเย็น ขึ้นอยู่กับความต้องการในการใช้งาน เหล็กรูปพรรณขึ้นรูปให้ได้ความหนา และความยาวตามต้องการ มีหน้าตัดด้านข้างที่เหลี่ยมและคมกว่าเหล็กแบนรีด เหล็กแบนตัดที่มีมาตรฐานส่วนใหญ่ได้รับมาตรฐาน TIS, JIS, DIN, ASTM


2.11 เหล็กกัลวาไนซ์ (Galvanized Steel)

คือ เหล็กกล่องที่ผ่านกระบวนการกัลวาไนซ์ (Galvanization) หมายถึง กระบวนการเคลือบพื้นผิวเหล็กด้วยสังกะสีเพื่อป้องกันสนิมให้กับเหล็ก เมื่อเหล็กผ่านการเคลือบสังกะสีแล้วมักจะถูกเรียกว่า เหล็กกัลวาไนซ์ (Galvanized Steel) มีคุณสมบัติกันสนิมที่ดีเยี่ยม เหมาะสมกับงานโครงการที่ต้องการอายุการใช้งานในระยะยาว งานโครงการที่ติดทะเล บ้านหรืออาคารที่อยู่บริเวณใกล้เคียงน้ำทะเล ลมทะเล หรือโครงสร้างในท้องทะเล 


สำหรับท่านไหนที่กำลังมองหาเหล็กที่ใช้งานก่อสร้าง KTM Metal ยินดีให้บริการ เราเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายเหล็กทุกชนิด ด้วยความไว้วางใจจากลูกค้ามาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี มีทั้งเหล็กที่ได้รับมาตรฐานสากล และมาตรฐาน มอก. สามารถสั่งซื้อเหล็ก หรือทราบรายละเอียดได้แล้วที่นี่